การจัดการชั้นเรียน

การจัดการชั้นเรียน
ความหมายของการจัดการชั้นเรียน
ปราณี สาระจิตต์ (2537:อ้างอิงจาก สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,2552,47) ให้ความหมายไว้ว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึงกระบวนการในด้านการจัดเตรียมสภาพห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์ และกิจกรรม รวมทั้งวิธีการในการจัดการพฤติกรรมของเด็ก เพื่อรักษาบรรยากาศในชั้นเรียน ช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เด็กเกิดความมือในกิจกรรมการเรียนรู้
ความสำคัญของการจัดการชั้นเรียน
จะพบว่าการบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ อันจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนและการร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในห้องเรียน และนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลสูงสุดการจัดการชั้นเรียนมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ คือ
– การเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หรือเกิดได้น้อยถ้ามีสิ่งรบกวนในชั้นเรียนอยู่ตลอดเวลาด้วยปัญหาทางด้านพฤติกรรมของนักเรียน
– นักเรียนที่อยู่ในชั้นเรียนที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนมีเสียงดังและสิ่งรบกวน หรือการจัดที่นั่งไม่เหมาะสมอาจเกิดสาเหตุให้เกิดปัญหาทางวินัยนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือทำให้นักเรียนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
– การกำหนดคุณลักษณะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียนไว้ล่วงหน้าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการชั้นเรียน เพราะจะทำให้นักเรียนมีแนวทางในการควบคุมพฤติกรรมของตนเองโดยไม่แสดงอาการหรือพฤติกรรมที่จะเป็นการรบกวนการเรียนของผู้อื่น
– ชั้นเรียนที่มีการจัดการกับพฤติกรรมของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ครูสามารถดำเนินการสอนได้อย่างเต็มที่โดยไม่เสียเวลากับการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน
– การจัดการชั้นเรียนให้นักเรียนมีวินัยในการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทรโดยคำนึงถึงกฎระเบียบของชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะยังประโยชน์ต่อการเรียนรู้แล้วยังมีผลในระยะยาวคือเป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยเพื่อการเป็นพลเมืองดีในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้นจึงอาจสรุปความสำคัญของการจัดชั้นเรียนได้ว่า เป็นการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน เพื่อกระตุ้น ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้และสร้างเสริมผู้เรียนในด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี  รวมถึงการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของการเรียนการสอนตลอดจนบรรลุผลตามเป้าหมายของการศึกษา