การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ
Backward Design
ธนสาร บัลลังก์ปัทมา เรียบเรียง
การออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design นั้น
เป็นแนวคิดของ Grant Wiggins และ Jay McTich ซึ่งคิดค้นเมื่อปี
พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998)
โดยเขียนหนังสือเรื่อง Understanding
by Design นักวิชาการชาวไทยที่นำมาพัฒนาเผยแพร่
คือ ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, ดร.เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา การออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
เป็นที่นิยมของโรงเรียนนานาชาติ
ได้เผยแพร่เป็นที่รู้จักในวงการศึกษาไทยจากการอบรมปฏิบัติการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา
ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ ดอกเตอร์โกวิท ประวาลพฤกษ์
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว) ได้จัดอบรมให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ
ภายใต้หัวข้อการอบรมเรื่องการออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ Backward Design
การออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่ย้อนกลับ
เริ่มต้นจากปลายทางที่ผลผลิตที่ต้องการ โดยนำการวัดผลมาเป็นหลัก
จากนั้นจึงออกแบบหลักสูตรและแผนการเรียนการสอน
ขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design มี 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1
ออกแบบหน่วยการเรียนรู้หรือประเด็นการเรียนรู้หรือเป้าหมายการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 2
จัดทำผังการประเมินหรือวิเคราะห์ร่องรอยผลงานที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน(หาหลักฐานการเรียนรู้)
ขั้นตอนที่ 3 ออกแบบการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 1
ออกแบบหน่วยการเรียนรู้หรือประเด็นการเรียนรู้หรือเป้าหมายการเรียนรู้
ในการกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ ผู้สอนจะพิจารณาว่าผู้เรียนควรรู้อะไร
ควรมีความเข้าใจเรื่องใด และควรทำสิ่งใดบ้าง สิ่งใดที่ควรค่าแก่การเรียนรู้
ควรให้มีความเข้าใจที่ยั่งยืนในเรื่องใดบ้าง
สิ่งที่มีคุณค่าและน่ารู้
สิ่งที่จำเป็นต้องรู้และจำเป็นต้องทำ
ความเข้าใจที่ลุ่มลึกและยั่งยืน
ขั้นตอนที่ 1 จะมีกิจกรรม 8 หัวข้อ ดังนี้ (ลำดวน ไกรคุณาศัย และคณะ ก,ข.
2550 : 3)
1)
กำหนดประเด็นการเรียนรู้หรือเป้าหมายการเรียนรู้หรือหน่วยการเรียนรู้
เป็นการกำหนดประเด็นหัวเรื่อง (Theme) หน่วยการเรียนรู้จากความมั่นใจของชุมชน
ครู นักเรียน
กำหนดเป้าหมายของการสอน
เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วต้องการให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมาย
ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์มาตรฐานสาระการเรียนรู้
2)
กำหนดแนวคิดหลัก (Core Concept) ที่สอดคล้องและครอบคลุมประเด็น
สอดคล้องกับหัวเรื่อง โดยใช้แผนผังความคิด (Mind Mapping)
แนวคิดหลัก (Core Concept) ได้จากการวิเคราะห์หัวเรื่องกับมาตรฐานสาระการเรียนรู้
เป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับประเด็นหัวเรื่อง ซึ่งจะมีหัวข้อย่อย ๆ ประกอบอยู่
3)
กำหนดความรู้คงทน (Enduring Understanding) หรือความคิดรวบยอดที่เกิดขึ้นเมื่อเรียนจบหน่วยการเรียนรู้
ศึกษามาตรฐานสาระการเรียนรู้ เพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนต้องรู้อะไร ทำอะไร
ได้รับการพัฒนาจิตพิสัยด้านใด ได้รับการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ใด
เกิดจากการเรียนรู้ประเด็นหัวเรื่อง ได้จากการรวบแนวคิดหลัก (Core Concept) เป็นความคิดรวบยอด
4) การวิเคราะห์เทียบมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
ต้องพิจารณาว่าในขั้นตอนที่กำหนดความคิดหลักไว้แต่ละหัวข้อนั้น
สามารถนำไปเทียบกับมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ใด มาตรฐานใด ให้ระบุไว้
5)
การวิเคราะห์ความรู้หรือทักษะเฉพาะวิชาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้จากมาตรฐานการเรียนรู้ที่ระบุหรือพิจารณาไว้
มีทักษะเฉพาะวิชาด้านใดบ้าง นำมาเขียนระบุไว้ โดยพิจารณาทีละกลุ่มสาระ ซึ่งทักษะเฉพาะ ศึกษาได้จากมาตรฐานการเรียนรู้
ซึ่งจะมีคำหรือข้อความเชิงพฤติกรรม เช่น สังเกต, ศึกษา, เปรียบเทียบ ฯลฯ
6)
การวิเคราะห์จิตพิสัยที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน การวิเคราะห์จิตพิสัย
จะเป็นพฤติกรรมเชิงคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมดังกล่าว
ซึ่งศึกษาได้จากมาตรฐานการเรียนรู้
โดยผู้สอนสามารถเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรฐานได้
โดยให้สอดคล้องกับประเด็นหัวเรื่อง (Theme ) และแนวคิดหลัก
(Core Concept)
7)
การวิเคราะห์ทักษะคร่อมวิชาหรือทักษะร่วม(ทักษะบูรณาการ) พิจารณาจากทุกมาตรฐานว่ามีทักษะใดบ้างที่ไม่ได้ระบุไว้ในทักษะเฉพาะวิชา
แต่เป็นทักษะที่นำมาใช้ร่วมกันได้ทุกกลุ่มสาระ
เช่น กระบวนการกลุ่ม การวางแผนการทำงาน กระบวนการวิทยาศาสตร์
การนำเสนอผลงาน การคิดวิเคราะห์ การสืบค้น
8)
การวิเคราะห์คุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สถานศึกษากำหนด
เลือกเฉพาะข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ออกแบบการเรียนรู้
ไม่จำเป็นต้องนำมาหมดทุกข้อ
ขั้นตอนที่ 2
จัดทำผังการประเมินหรือวิเคราะห์ร่องรอยผลงานที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน
(หาหลักฐานการเรียนรู้) หรือ
การกำหนดหลักฐานของการเรียนรู้ที่เป็นที่ยอมรับได้
วิธีการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
กำหนดให้ครูคิดเหมือนนักประเมินผล
ครูจะเริ่มวางแผนการเรียนรู้ ด้วยการพิจารณาถึงหลักฐานหรือร่องรอยที่จะบ่งชี้ว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลายและต่อเนื่อง
การจัดทำผังการประเมิน ครูผู้สอนต้องตัดสินใจว่า
ความเข้าใจที่เกิดขึ้นกับนักเรียนนั้น นักเรียนจะนำเสนอหรือสาธิต
แสดงออกให้เห็นได้อย่างไรว่านักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง Wiggins และ McTight ได้ให้รายละเอียดความเข้า 6 ประการ (Six facets of understanding) โดยเชื่อว่านักเรียนจะมีความเข้าใจอย่างแท้จริง
เมื่อนักเรียนสามารถ อธิบายชี้แจงเหตุผล, แปลความ ตีความ, ประยุกต์, มีเทคนิคการเขียนภาพที่เห็นด้วยตาจริง, สามารถหยั่งรู้ความรู้สึกร่วม และมีองค์ความรู้ของตนเอง (ไตรรงค์ เจนการ. 2549 : 3)
เทคนิคการประเมิน
ในขั้นตอนที่ 2 ผังการประเมินได้เสนอแนะไว้ 6 วิธีการใหญ่ ๆ ดังนี้
1.
การเลือกคำตอบที่ถูกต้อง (Selected Response) เช่น
การจับคู่คำตอบ การเลือกตอบ การตอบแบบตัวเลือก
2.
การเขียนหรือตอบตามเค้าโครง (Constructed
Response) เช่น เขียนรายงานผลการทดลอง เขียนจดหมายตามรูปแบบที่วางไว้ การเขียนตอบแบบสั้น ๆ
3.
การตอบอัตนัย (Assay) การเขียนบทความ
เขียนตอบโดยกำหนดเค้าโครงเอง (การตอบแบบอธิบาย บรรยาย)
4.
การผลิตชิ้นงาน โครงการ การแสดง การปฏิบัติที่กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลในโรงเรียน
อยู่ในบริบทของโรงเรียน (School products/ School performance)
การนิทานแผ่นเดียวหรือนิทานเล่มเล็ก
นิทานเล่มใหญ่ การทำแผ่นพับความรู้ สมุดภาพ การทำรายงาน การทำโครงงานทั่ว ๆ ไป
5.
การผลิตชิ้นงาน โครงการ โครงงาน
การแสดง
การปฏิบัติที่กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลภายนอกโรงเรียน อยู่ในบริบทของชีวิตจริง
ซึ่งมีความซับซ้อนของสถานการณ์และการจัดการมากกว่า
นักเรียนต้องมีทักษะและความรู้ใกล้เคียงกับมืออาชีพในการทำงานหรือการปฏิบัตินั้น ๆ
(Contexual products/ Contexual performance) การทำโครงงานจากการไปศึกษาข้อมูลจากชุมชน
การทัศนศึกษาแล้วทำรายงานหรือโครงงาน โครงการมัคคุดเทศก์น้อยแนะนำท้องถิ่น ชุมชน
6.
การประเมินต่อเนื่อง (On-going tools) เช่น
การสังเกตพัฒนาการของนักเรียน การประเมินทักษะของนักเรียน
การประเมินตนเองของนักเรียน
การสังเกตด้านจิตพิสัยและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องอาศัยการสังเกตอย่างต่อเนื่อง
การวางผังประเมินเป็นการประเมินตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในขั้นตอนที่
1 ซึ่งครูผู้สอนต้องวางผังการประเมินให้ครอบคลุม คือ ความเข้าใจที่คงทน, จิตพิสัย, ทักษะคร่อมวิชาหรือทักษะร่วม, ความรู้และทักษะเฉพาะวิชา, คุณลักษณะอันพึงประสงค์
แต่ละหัวข้อต้องเลือกวิธีการประเมินที่เหมาะสม โดยให้เลือกวิธีการประเมินที่สามารถวัดผลได้ชัดเจนตามศักยภาพผู้เรียน
ขั้นตอนที่ 3 การออกแบบการเรียนรู้
การออกแบบการเรียนรู้
เป็นการนำผังการประเมินในขั้นตอนที่ 2
มาออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ โดยมีวิธีการพิจารณา ดังนี้
1)
เรียงเนื้อหาจากง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยากขึ้น
2)
เรียงลำดับก่อนหลัง
3)
ตัวอย่างการประเมินจากกิจกรรมโครงงาน
ก่อนจะประเมินครูต้องพิจารณาว่าจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้อะไรร่วมกับผู้เรียนบ้าง
4) เกณฑ์การประเมินชิ้นงาน
ครูผู้สอนควรมีเกณฑ์คุณภาพ (Rubric) กำหนด
ระดับคุณภาพไว้อย่างชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของครูผู้สอนแต่ละคนและนักเรียนที่จะช่วยให้สามารถทำชิ้นงานได้ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ความเข้าใจใน ๖ ด้าน
เพื่อความชัดเจนว่า
ความเข้าใจที่เป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้คืออะไร
คือการพิจารณาว่าผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งจะสามารถทำสิ่งดังต่อไปนี้ (กษมา
วรวรรณ ณ อยุธยา. 2550 : 8)
๑. Can explain สามารถอธิบายแนวคิด
เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์อย่างชัดเจน พร้อมข้อมูล ทฤษฎี
และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถอธิบายเหตุผลและวิธีการ (Why and How) ทั้งยังสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ก้าวเกินคำตอบเพียงผิด
หรือถูก
๒. Can interpret สามารถแปลความให้เกิดความหมายที่ชัดเจน
ชี้ให้เห็นคุณค่า แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง และผลกระทบที่อาจมีต่อผู้เกี่ยวข้อง
๓. Can apply สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ
ที่ต่างไปจากที่เรียนรู้มา
๔. Have perspective สามารถมองข้อดี ข้อเสีย จากมุมมองที่หลากหลาย
๕. Can empathize มีความละเอียดอ่อนที่จะซึมซับ
รับทราบถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง
๖. Have self-knowledge รู้จักตนเอง ตระหนักถึงจุดอ่อน วิธีคิด
วิถีปฏิบัติ ค่านิยม อคติ ของตนเอง
ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และความเข้าใจ
ของตนเอง
จุดเด่นของการออกแบบการเรียนรู้แบบ
Backward Design คือ
1. การนำแนวทางวัดผลมาเป็นหลักในการออกแบบการเรียนรู้
2.
การบูรณาการความรู้ ช่วยลดภาระครูผู้สอน
3.สามารถนำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นมาออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
ข้อควรคำนึงของการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
1. .ในการบูรณาการ
ครูควรมีการประชุมหารือวางแผนการจัดการเรียนรู้ก่อนนำไปใช้สอน
เพื่อป้องกันการประเมินซ้ำซ้อน
2. ชิ้นงานแต่ละชิ้น
ควรประเมินได้หลายกลุ่มสาระการเรียนรู้
3. ในระดับช่วงชั้นที่ 3-4
การบูรณาการอาจต้องจัดให้เหมาะสม เพราะครูแต่ละคน
จะสอนประจำวิชาเพียงกลุ่มสาระเดียวเป็นส่วนใหญ่
การบูรณาการจึงต้องใช้การประสานงานที่ดี
4.
เวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรม ในการเรียนเรื่องเดียวกัน
ควรใช้ช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันเพื่อบูรณาการความรู้
แนวทางการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
การออกแบบการเรียนรู้แบบ
Backward Design มีแนวทางในการออกแบบการเรียนรู้ ดังนี้
1.
นำเนื้อหาสาระในหนังสือเรียนมาออกแบบการเรียนรู้ และทำแผนการสอน
อาจบูรณาการหรือไม่บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นก็ได้
2.
นำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design โดยบูรณาการในกลุ่มสาระต่าง ๆ
3.
นำเรื่องราว เนื้อหา แนวคิดต่าง ๆ เช่น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design