ประสบการณ์ตกผลึก


            กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าร่วมกระบวนการจัดการความรู้ มาตั้งแต่ ปี 2548 นับถึงปัจจุบันก็ประมาณ 1 ปีกว่าๆ แล้ว  ในช่วงเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา แทบไม่น่าเชื่อว่าเราได้ตกผลึกเรื่อง การจัดทำ KM ได้อย่างน่าอัศจรรย์  เราได้เรียนรู้ทั้งแนวคิด KM เรียนรู้การนำ KM ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนางาน โดยการนำไปปฏิบัติจริงในจังหวัดนำร่อง 9 จังหวัด โดยใช้โมเดล "ปลาทู" และตารางธารปัญญา ของ สคส. เป็นเครื่องมือ ซึ่งในตอนแรก ที่ได้รับความรู้จากท่าน อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด เมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม 2548 ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ ในตอนนั้นดิฉันยอมรับว่า ยังมีความรู้สึกเบลอ ๆ และยังไม่แน่ใจนักว่า จะนำไปปฏิบัติจริงได้หรือ ผลจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเป็นห่วงจังหวัดนำร่องมากกว่าว่า ได้ฟังการบรรยายเพียงครั้งเดียว จะนำไปลงมือทำได้หรือ  จำได้ว่าได้ปรารภกับอาจารย์ประพนธ์ ว่า น่าจะมีการอบรมเทคนิค การเป็นคุณอำนวยให้กับจังหวัดนำร่อง เพิ่มเติมก่อนที่จะลงมือทำจริง  แต่คำตอบที่ได้คือ ให้ลงมือทำเลย เหมือนการขี่จักรยาน ให้ขึ้นจักรยานเลย ล้มก็ไม่เป็นไร ถ้าเราอบรมอยู่เรื่อย ก็เปรียบเสมือนการเสพอยู่เรื่อย แต่ไม่ลงมือทำสักที ก็ไม่มีประโยชน์
          นี่เป็นข้อคิดอันแรก ที่ได้จากอาจารย์ อาจารย์ได้จับเราขึ้นอานจักรยานแล้ว และปล่อยมือให้เราขี่จักรยานเลย   ซึ่งกลยุทธ์ของอาจารย์ตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่า ใช้ได้ผลดีมาก  ทำให้จังหวัดนำร่องทั้ง 9 จังหวัดและคณะทำงาน KM ของกรมฯ ได้เรียนรู้กระบวนการจัดทำ KM อย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้ของจังหวัดนำร่องทั้ง 9 จังหวัด จะแตกต่างกัน ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดา ขึ้นอยู่กับบริบท และปัจจัยปัจจัยแวดล้อมของแต่ละจังหวัด  แต่สิ่งสำคัญที่ดิฉันคิดว่าแต่ละจังหวัดและคณะทำงาน KM ได้รับแน่นอน คือ การตกผลึกแนวคิด และกระบวนการ KM  อย่างไม่ต้องสงสัย เหมือนอยู่ในกระแสเลือดทีเดียว  ตอนนี้ใครพูดถึง KM เหรอ สบายมาก สามารถอธิบาย ได้เป็นฉากๆ  โดยเฉพาะจังหวัดนำร่องเดิม 9 จังหวัด ในปี 49 นี้ สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assits) ได้แล้ว


"ตกผลึกแนวคิดและประสบการณ์ในการจัดการพื้นที่ทำกสิกรรม" พ่อคำเดื่อง ภาษี